Tuesday, October 23, 2012

ขมิ้นมีฤทธิ์สมานแผลในกระเพาะอาหาร

 ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลและสมานแผลในกระเพาะอาหาร  


ขมิ้นมีฤทธิ์สมานแผลในกระเพาะอาหาร โดยเร่งการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อที่เป็นแผล  ทำให้แผลหายเร็วขึ้น  ag-turmerone จากน้ำมันหอมระเหยของขมิ้นเป็นสารออกฤทธิ์ป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร (1) ขมิ้นสามารถต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร  โดยกระตุ้นการหลั่ง mucin มาเคลือบกระเพาะอาหาร และสาร curcumin ขนาด 50 มก./กก. ก็ให้ผลเช่นเดียวกัน (2-4) และ ขมิ้นยังยับยั้งการหลั่งน้ำย่อยต่าง ๆ ได้อีกด้วย (4)
นอกจากนี้ยังมีการทดลองทางคลินิก ที่ใช้ขมิ้นในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องด้วยอาการโรคแผลในกระเพาะอาหาร โดยเปรียบเทียบกับการใช้ยาไตรซิลิเกต (trisilicate) ซึ่งเป็นยาลดกรดขององค์การเภสัชกรรม หลังการทดลองได้ผลดังนี้ คือ อาการดีขึ้นมากหลังรักษาด้วยขมิ้นชันครบ 12 สัปดาห์ จำนวน 15 ราย คิดเป็นร้อยละ 60 หายเป็นปกติ 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.8 อาการดีขึ้นมากหลังรักษาด้วยยาไตรซิลิเกต 5 ราย คิดเป็นร้อยละ 50 และหายเป็นปกติ 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 40 (5)
ต่อมาได้มีการทดลองในผู้ป่วย 10 คน เป็นชาย 8 คนและหญิง 2 คน อายุระหว่าง 16-60 ปี เป็นแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของแผล 0.5-1.5 ซม. ซึ่งมีอาการปวดท้องและอาการอื่นๆ ที่บ่งถึงภาวะแผลเปื่อยในกระเพาะอาหารและ/หรือลำไส้เล็ก ทำการทดสอบโดยให้รับประทานขมิ้นแคปซูลขนาด 250 มก. ครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง คือรับประทานก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง 3 มื้อ และรับประทานก่อนนอน เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ การตรวจสอบโดยการส่องกล้อง ทำในสัปดาห์ที่ 0, 4, 8 และ 12 สัปดาห์  หลังจากรักษา มีผู้ป่วยแผลหาย 7 ราย (70%) โดย แผลหายภายใน 4 สัปดาห์ 5 ราย (50%) แผลหายภายใน 8 สัปดาห์ 1 ราย (10%) และแผลหายภายใน 12 สัปดาห์ 1 ราย (10%) (6)
การทดลองทางคลินิก โดยให้ผู้ป่วยโรคกระเพาะชนิด gsatric ulcer (GU) จำนวน 5 ราย และ duodenal ulcer (DU) จำนวน 20 ราย ได้รับยาแคปซูลขมิ้นขนาด 300 มก. ครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 5 ครั้ง คือรับประทานก่อนอาหาร 0.5-1 ชั่วโมง 3 มื้อ รับประทานเวลา 16.00 น. และรับประทานก่อนนอน เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วย 12 ราย (DU 9 ราย และ GU 3 ราย) จาก 25 ราย คิดเป็นร้อยละ 48 แผลหายภายใน 4 สัปดาห์ ผู้ป่วย 18 ราย (DU 13 ราย และ GU 5 ราย) จาก 25 ราย คิดเป็นร้อยละ 72 แผลหายภายใน 8 สัปดาห์ ผู้ป่วย 19 ราย (DU 14 ราย และ GU 5 ราย) จาก 25 ราย คิดเป็นร้อยละ 76 แผลหายภายใน 12 สัปดาห์ และผู้ป่วยที่แผลหายแล้ว จะไม่กลับมาเป็นแผลอีก (7)
น้ำคั้นจากเหง้าสด ผงขมิ้น ส่วนที่สกัดด้วยอัลกอฮอล์ที่ละลายในเฮกเซน และส่วนที่สกัดด้วยอัลกอฮอล์ที่ไม่ละลายในเฮกเซน เมื่อป้อนให้หนูขาวที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร 3 วิธี ได้แก่ การทำให้เครียดด้วยความเย็น ให้กรดเกลือและให้แอสไพริน  พบว่ายาเตรียมและส่วนสกัดต่างๆ ยกเว้นส่วนที่สกัดด้วยอัลกอฮอล์ที่ไม่ละลายในเฮกเซน สามารถป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ (6)
      การทดสอบโดยป้อนน้ำมันขมิ้นในขนาด 0.075, 0.15 และ 0.3 ก./กก. แก่หนูขาวก่อนถูกกระตุ้นให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วย 0.6 N hydrochloric acid และ indomethacin 50มก./กก. เป็นเวลา 30 นาที พบว่าน้ำมันขมิ้นช่วยทำให้ pH ในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น ลดการทำงานของเปปซินและเพิ่มการหลั่งสารเมือกของกระเพาะอาหาร ซึ่งฤทธิ์ดังกล่าว จะเพิ่มขึ้นตามขนาดของน้ำมันที่ให้ และพบว่าที่ขนาด 0.3 ก./กก. ยังช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารจาก hydrochloric acid และ indomethacin ได้ 97.4 และ 100% (8)
ขมิ้นสามารถยับยั้งการเกิดแผล และช่วยไม่ให้แผลในกระเพาะอาหารเกิดเพิ่มขึ้น ซึ่งทดลองโดยให้สารสกัดอัลกอฮอล์ของขมิ้นในขนาด 500 มก./กก. กรอกเข้าทางปากแก่หนูขาว พบว่าสามารถป้องกันการเกิดแผลที่มีสาเหตุมาจาก pyloric ligation, ความเครียดโดยใช้ความเย็น, indomethacin, reserpine, cysteamine, 80% เมทานอล, 0.6 M hydrochloride, 0.2 M Sodium hydroxide และ 95% Sodium chloride (9)
การทดสอบป้อนผงขมิ้นขนาด 0.5 ก./กก. แก่หนูขาวเพศผู้ ก่อนชักนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารเป็นเวลา 3 วัน ด้วย indomethacin ขนาด 12 มก./กก., ภาวะเครียดจากความเย็น และการจำกัดการเคลื่อนไหว พบว่าผงขมิ้นที่ขนาดดังกล่าว มีฤทธิ์ช่วยป้องกันและเสริมการสมานแผลในกระเพาะอาหาร แต่มีแนวโน้มในการทำให้เกิดแผลรุนแรงมากกว่ากลุ่มควบคุมซึ่งได้รับ indomethacin แต่ไม่ได้รับขมิ้น (10)
เมื่อให้สาร phenyl-1-hydroxy-N-pentane ซึ่งเป็นสารอนุพันธ์ที่สังเคราะห์มาจากสารประกอบในขมิ้น เข้าทางลำไส้เล็กส่วน duodenum ของสุนัข จะมีฤทธิ์เพิ่มการหลั่ง secretin และ bicarbonateจากตับอ่อน โดยการออกฤทธิ์จะเพิ่มขึ้นตามขนาดของสารที่ได้รับ และการทดลองในอาสาสมัคร 6 คน ที่ได้รับ 2% phenyl-1-hydroxy-N-pentane ขนาด 30 มล./30 นาที โดยการฉีดเข้าที่ลำไส้เล็กส่วนบนของ jejunum ก็พบว่าความเข้มข้นของ secretin และbicarbonate ในเลือดเพิ่มขึ้น (11)

0 comments:

Post a Comment